วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

Learning Log การถ่ายทอดตัวอักษร


                ในชีวิตประจำวันของเรานั้น เราจะสื่อสารกันโดยการพูดคุย ซึ่งในการสื่อสารของคนเรานั้น จะเป็นการสื่อสารกันที่ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านคนด้วยกันโดยตรง หรือผ่านสื่อเทคโนโลยีต่างๆ และไม่ว่าเราสื่อสารผ่านทางใด เราก็ต้องสื่อสารด้วยภาษา ภาษาในที่นี้ได้แก่ ภาษาเขียน ภาษาพูด ภาษาอ่าน เป็นต้น ดังนั้นเราก็ล้วนจะต้องสื่อสารผ่านตัวอักษรทั้งนั้น ซึ่งในที่นี้เราเรียกว่า การถ่ายทอดตัวอักษร
                การถ่ายทอดตัวอักษร หมายถึง การนำคำในภาษาหนึ่งมาเขียนด้วยตัวอักษรของอีกภาษาหนึ่งโดยพยายามให้การเขียนในภาษาใหม่นี้ถ่ายทอด “เสียง” ของคำในภาษาเดิมให้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้ การถ่ายทอดตัวอักษรมีบทบาทในการแปลจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
                1. เมื่อในภาษาต้นฉบับมีคำที่ใช้แทนชื่อเฉพาะของสิ่งต่างๆ เช่น ชื่อคน ชื่อสถานที่ ชื่อแม่น้ำ ชื่อภูเขา หรือชื่อสถาบันต่างๆ
                2. เมื่อคำในภาษาต้นฉบับมีความหมายอ้างอิงถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรม หรือนามธรรมที่ไม่มีในสังคมของภาษาฉบับแปลจึงไม่มีคำเทียบเคียงให้ เช่น คำที่ใช้เรียกต้นไม้ สัตว์ และกิจกรรมบางชนิด ความคิดบางประเภทซึ่งมีในภาษาอังกฤษแต่ไม่มีในภาษาไทย เนื่องจากยังไม่มีการบัญญัติศัพท์ขึ้น ในกรณีเช่นนี้ผู้แปลอาจแก้ปัญหาได้สองประการ คือ 1) ใช้วิธีให้คำนิยามหรือคำอธิบายที่บอกลักษณะตรงกับคำเดิมนั้น 2) ใช้ทับศัพท์
                ตัวอย่าง เช่นคำ “internet” ซึ่งเมื่อถ่ายทอดเป็นภาษาไทยอาจทำได้โดยให้คำนิยามว่า “เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงระหว่างองค์กรต่างๆ” หรือใช้ทับศัพท์ว่า “อินเตอร์เน็ต” ในการทำดังนี้ผู้แปลควรยึดหลักปฏิบัติในการถ่ายทอดเสียงของคำดังต่อไปนี้
                1. ให้อ่านคำนั้นเพื่อให้รู้ว่าคำนั้นออกเสียงอย่างไร ประกอบด้วยเสียงอะไรบ้าง แล้วหาตัวอักษรในภาษาฉบับแปลที่มีเสียงใกล้เคียงกันมาเขียนแทนเสียงนั้น
                2. ภาษาทุกภาษาจะมีเสียงพยัญชนะและสระตรงกันเป็นส่วนมาก และผู้แปลจะหาตัวอักษรมาเขียนแทนได้เลย เช่น การใช้ “ก” แทนเสียงแรกในคำว่า “Kamonwan” เป็นต้น แต่ก็จะมีเสียงจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มีตัวอักษรที่แทนเสียงตรงกับในฉบับแปล ในกรณีนี้ให้หาตัวอักษรตัวหนึ่งหรือ 2 ตัว เรียงกันที่มีเสียงใกล้เคียงที่สุดมาเขียนแทน เช่น การใช้ “ง” แทนเสียงแรกของชื่อ “Ngamjan” เป็นต้น
                เสียงบางประเภทอาจจะไม่มีใช้ในอีกภาษาหนึ่งเลย หรือถ้ามีก็จะเทียบเคียงกันไม่ได้ เช่น เสียงหนักเบาในคำภาษาอังกฤษซึ่งไม่มีในภาษาไทย หรือเสียงวรรณยุกต์ประจำพยางค์ซึ่งมีในภาษาไทยแต่ไม่มีในภาษาอังกฤษ กรณีเช่นนี้ก็ให้ตัดเสีย ไม่จำเป็นต้องคิดหาเครื่องหมายมาใช้ในการเขียน ดังนั้น การถ่ายทอดเสียงของคำภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องหมายบอกเสียงหนักเบา และไม่จำเป็นต้องใช้วรรณยุกต์เพื่อแทนเสียงสูงต่ำ
                3. เมื่อกำหนดตัวอักษรใดตัวอักษรหนึ่งแทนเสียงใดเสียงหนึ่งแล้วให้ใช้ตัวนั้นตลอดไป อย่าเปลี่ยนไปมาไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทแปลบทเดียวกันต้องใช้หลักการถ่ายทอดอย่างเดียวตลอดไป
                4. ในส่วนของการยืมคำศัพท์มาใช้โดยเขียนเป็นภาษาฉบับแปล ถ้าคำนั้นยังไม่เป็นที่แพร้หลาย ให้วงเล็บคำเดิมในต้นฉบับไว้ด้วย
                และในบัญชีต่อไปนี้มีไว้สำหรับผู้แปลระหว่างภาษาไทยและภาษาอังกฤษใช้เป็นแนวทางในการถ่ายทอดอักษร
                บัญชีที่ 1 การถ่ายทอดภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีทั้งพยัญชนะและสระ
                บัญชีที่ 2 การถ่ายทอดภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ก็มีทั้งพยัญชนะและสระ
                จากการศึกษา ดิฉันได้ความรู้คือ ไม่ว่าเราจะสื่อสารกันด้วยภาษาอะไร ล้วนเป็นการถ่ายทอดผ่านตัวอักษร เพราะภาษาแต่ละภาษาเราล้วนจะต้องมีตัวอักษรกันทั้งนั้น
       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น